เชื่อหรือไม่? ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่มีความกังวลและความเครียดจากโควิด-19 พุ่งสูงขึ้น เป็นหลักหมื่นต่อวัน จากรายงานกรุงเทพโพลล์โดยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ พบว่า ร้อยละ 63.9 เครียดและกังวลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด และเรื่องที่เครียดมากที่สุดคือ กลัวตนเองและครอบครัวเสี่ยงติดเชื้อมากขึ้น ร้อยละ 72.7 เพื่อไม่ให้เข้าข่ายโรคซึมเศร้า จึงจำเป็นต้องหาวิธีรับมือกับความเครียดจากโควิด-19 ยังระบาดหนัก
“โควิด-19 ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพกาย แต่ยังส่งผลกระทบได้ถึงสุขภาพจิตใจ”
เพราะความเครียดอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจได้ในระยะยาว
หลายครั้งที่คนไทยเลือกจะปล่อยความเครียดให้คอยกัดกินจิตใจต่อไป เพราะคิดเองว่า เดี๋ยวความเครียด จากโควิด-19 เหล่านั้นก็หายไป ทั้งที่ความจริงแล้ว โรคเครียดจากความเจ็บปวดในเหตุการณ์ร้ายแรง อย่างอุบัติเหตุ โรคระบาด เหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ อาจส่งผลกระทบทางด้านจิตใจไปได้นานหลายปี อย่างการศึกษาที่ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Health ปี 2019 พบว่า ประชากรและเจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์ 9/11 หลายหมื่นราย ได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจจากความเครียดและความเจ็บปวดในเหตุการณ์ดังกล่าว กินเวลานานนับ 15 ปี
โควิด-19 ไม่ใช่แค่โรคระบาดธรรมดา ถึงแม้จะดูเหมือนไม่รุนแรงอย่างเหตุการณ์ในกรณีศึกษา แต่ก็เป็นสิ่งที่พรากความสุข ทรัพย์สิน อาชีพ รายได้ โอกาสหลายๆ อย่าง และชีวิตของคนที่รัก ไปจากคนหลายๆ คน ซึ่งความสูญเสียเหล่านี้ก็สามารถสร้างความเครียดและผลกระทบต่อจิตใจได้ไม่น้อยไปกว่ากันเลย
การรับมือความเครียดจากโควิด-19
1) รับข้อมูลข่าวสารเท่าที่จำเป็นและเช็คระดับความเครียดจากโควิด
ไม่จำเป็นที่จะต้องตามข่าวสารทุกขั้นตอนหรือตลอดเวลา เพราะยิ่งติดตามมากเท่าไหร่ ก็อาจจะยิ่งเสี่ยงเกิดความเครียดได้มากเท่านั้น ขอแนะนำให้ แบ่งเวลารับข้อมูลข่าวสารเท่าที่จำเป็น เช่น ในเวลาตอนเช้าก่อนเข้าทำงาน เลี่ยงช่วงก่อนนอน เพื่อป้องกันการเครียดจนนอนไม่หลับ เป็นต้น อีกทั้งควรคอยเช็คระดับความเครียดจากโควิดเสมอ เพื่อเตรียมวางแผนการรับมือกันต่อไป
2) หยุดพักและประคองจิตใจต่อไป
พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้จิตใจแย่ลง ไม่ว่าจะการตัดสินใจเรื่องยากที่อาจผิดพลาดและส่งผลให้เกิดความเครียดมากขึ้น แบ่งช่วงหยุดพักเรื่องความเครียดจากโควิดบ้าง ไม่คาดหวังกับตัวเองมากเกินไป และพยายามประคับประคองจิตใจให้ผ่านพ้นในแต่ละวันได้อย่างปกติ โดยอาจจะเพิ่มกิจกรรมที่ชอบหรืออยากทำมาในแต่ละวัน
3) ใช้ชีวิตให้เป็นปกติ
ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 อาจทำให้หลายอย่างเปลี่ยนไป โดยเฉพาะช่วง Work from home ที่ต้องอยู่แบบเหงาๆ ในที่พัก จึงขอแนะนำให้จัดเวลากิน นอน และกิจกรรมอื่นๆ ตามกิจวัตรประจำวันอย่างช่วงปกติ หลีกเลี่ยงการจ้องหน้าจอตลอดเวลา หากมีเวลาว่างก็อย่าลืมเติมเต็มด้วยกิจกรรมอย่างการออกกำลังกายง่ายๆ ที่พอจะสามารถทำได้ เพื่อให้สุขภาพกายและใจแข็งแรง เพื่อลดความเครียดจากโควิด
4) พูดคุยกับผู้อื่น
ส่วนหนึ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่เกิดความเครียดช่วงโควิดมากขึ้นก็เพราะการต้องอยู่คนเดียว ไม่ได้เจอเพื่อนฝูง คนรู้จัก ยิ่งโดดเดี่ยวความเครียดยิ่งสะสม อาจจะต้องลองผ่อนคลายด้วยการพูดคุยระบายความเครียดของกันและกันกับคนสนิทที่ไว้ใจได้ หรือหากประเมินแล้วพบว่า ตัวเองไม่ได้มีความเครียดในระดับที่จัดการได้ด้วยตัวเองหรือพูดคุยกับคนอื่นๆ ควรติดต่อผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา เป็นต้น เพื่อพูดคุย ประเมินอาการความเครียดจากโควิด และวางแผนการรักษาต่อไป
ปัจจุบัน สถานการณ์โควิด-19 ยังคงมีแนวโน้มว่า จะไม่ได้จบลงในระยะเวลาอันใกล้นี้ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกคนควรใส่ใจและรีบจัดการกับความเครียดจากโควิดที่กำลังสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อจิตใจในระยะยาวหรือด้านอื่นๆ นอกจากนี้อย่าลืมหมั่นเติมเต็มกำลังใจให้ตนเองและคนรอบข้าง รวมถึงรักษาสุขภาพกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ก็จะช่วยให้ทุกท่านผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ด้วยกัน